รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเขียวเข้ม เป็นสายการเดินรถไฟฟ้าสายหนึ่งของรถไฟฟ้าบีทีเอสในกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มต้นจากสถานีสยาม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนทางไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตก ไปยังสถานีสนามกีฬาแห่งชาติเพียงสถานีเดียว และมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ ตามแนวถนนราชดำริ ถนนสีลม ถนนนราธิวาสราชนครินทร์และถนนสาทร ก่อนจะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตามแนวสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน และตามแนวถนนกรุงธนบุรีและถนนราชพฤกษ์ไปสิ้นสุดที่สถานีบางหว้า เป็นสถานีสุดท้าย โดยมีสถานีทั้งสิ้น 13 สถานี ระยะทาง 14.67 ก.ม. ขบวนรถที่ให้บริการในสายนี้มีอยู่ 2 ยี่ห้อ คือ ขบวนรถยี่ห้อซีเอ็นอาร์ และขบวนรถยี่ห้อซีเมนส์
เส้นทางช่วงยศเส-ตลิ่งชัน จะใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่หมอชิต (ที่ทำการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) ร่วมกับสายสีเขียวอ่อน โดยใช้วิธีการป้อนขบวนรถจากสายสีเขียวอ่อนในช่วงก่อนเข้าสถานีสยาม และมีศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยบางหว้าที่เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดย่อยที่ใช้โครงสร้างร่วมกับทางวิ่งในช่วงบางหว้า-บางแวก ระบบเดินรถทั้งระบบมีศูนย์ควบคุมการเดินรถกลางอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่หมอชิต
มีจุดจอดแล้วจร (park and ride) ที่สถานีตลาดพลู และสถานีช่องนนทรี โดยใช้พื้นที่ร่วมกับโครงการรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที
สถานีทั่วไปมีความยาวประมาณ 150 เมตร ยกเว้นสถานีสะพานตากสินมีความยาวเพียง 115 เมตร (รองรับขบวนรถต่อพ่วงได้สูงสุด 5 ตู้ต่อ 1 ขบวน) มีประตูชานชาลา (platform screen door) ความสูงแบบ Half-Height ในบางสถานี ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดิน และรักษาสภาพผิวจราจรบนถนนมากที่สุด และมีเสายึดสถานีอยู่บริเวณเกาะกลางถนน
ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ให้บริการในสายสีลมปัจจุบัน จะประกอบไปด้วย Tc-Car และ M-Car โดย Tc-Car จะอยู่ด้านหัวและท้ายขบวน 2 ตู้ และ M-Car จะอยู่กลางขบวน 2 ตู้ สามารถต่อพ่วงได้สูงสุด 6 ตู้ต่อ 1 ขบวน (แต่ด้วยความสามารถของสถานีสะพานตากสิน ที่ยาวเพียง 115 เมตรนั้น ทำให้รถสามารถพ่วงต่อได้แค่ 5 ตู้ต่อ 1 ขบวนเท่านั้น) มีความยาวอยู่ที่ 87.25 เมตรและมีความกว้าง 3.12 เมตร มีประตูเลื่อนกว้าง 1.40 เมตร จำนวน 32 บานต่อ 1 ขบวน ตัวถังของขบวนรถทำเหล็กปลอดสนิมและอะลูมิเนียม ติดตั้งระบบปรับอากาศทั้งหมด 8 ยูนิต พร้อมหน้าต่างชนิดกันแสง และมีระบบแผนที่นำทางหรือ Dynamic Route Map ซึ่งทำงานพร้อมกับระบบอาณัติสัญญาณ ติดตั้งอยู่เหนือประตูทุกบาน รถไฟฟ้าสามารถขับเคลื่อนได้โดยใช้แรงดันไฟฟ้า 750 Vdc โดยรับจากรางส่งที่ 3 ความจุผู้โดยสารต่อรถไฟฟ้า 1 ขบวน